ข่าวประชาสัมพันธ์

แนวทางการปฏิบัติ โรคลมร้อน / ลมแดด

โรคลมแดด (Heat Stroke)

 สาเหตุและอาการของโรค

โรคลมแดด เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนใน   ร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่พบเบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน ซึ่งอาจมีอาการเพิ่มเติมอีก ได้แก่ ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อค ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคลมแดด ได้แก่ ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยปราศจากการเตรียมสภาพร่างการให้พร้อมในการเผชิญสภาพอากาศร้อน รวมถึงบรรดานักกีฬาสมัครเล่นและผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น รวมทั้งผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดื่มเหล้าจัด และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

การช่วยเหลือเบื้องต้น

1. นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก

2. เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด

3. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ

4. ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย

5. รีบนำส่งโรงพยาบาล

การป้องกัน

1. หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกาย

กลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน

2. ดื่มน้ำ1-2 แก้วก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัดและหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกายกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

3. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี

4. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด

5. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้แก้น้ำมูกโดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน

6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด

7. ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง

 

 682646.jpg     682649.jpg

   

logo65 w2