ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 เป็นสถาบันฝึกอบรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการ ขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 โดยมี ภารกิจหลักในการผลิตและฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของข้าราชการตำรวจในสังกัด เพื่อออกไปรับใช้ประชาชนในพื้นที่
เมื่อปีพุทธศักราช 2478 การฝึกอบรมข้าราชการตำรวจในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนตำรวจแต่จะรับจากผู้สมัครใจหรือเกณฑ์เข้ามาเป็นตำรวจ และให้ข้าราชการตำรวจ ที่มีความสามารถเป็นผู้ฝึกอบรมให้ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก โดยใช้สถานีตำรวจ กองกำกับการ กองบังคับการตำรวจเป็นสถานที่ฝึก
พุทธศักราช 2481 กรมตำรวจได้ตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกอบรมตำรวจ เป็นแห่งแรกของภาคใต้ที่ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนตำรวจหาดใหญ่”
พุทธศักราช 2482 ทางราชการต้องการที่ตั้งของโรงเรียนตำรวจหาดใหญ่เพื่อสร้างเป็นค่ายทหาร กรมตำรวจจึงได้ย้ายโรงเรียนตำรวจหาดใหญ่ไปอยู่ที่ ตำบลกาบู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
พุทธศักราช 2489 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทยเรียกชื่อโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนพลตำรวจภูธรเขต 9”
พุทธศักราช 2490 ตำบลกาบู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในขณะนั้นมีไข้มาลาเรียชุกชุม ตำรวจได้ป่วยและเสียชีวิตไปหลายราย ขณะนั้นเป็นเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานที่ตั้งของค่ายทหารร้อยพัน 2 ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ว่างลง กรมตำรวจจึงติดต่อขอสถานที่นั้นไว้เป็นที่ตั้งของ โรงเรียนพลตำรวจภูธรเขต 9
พุทธศักราช 2494 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทยใหม่เปลี่ยนชื่อ “โรงเรียนพลตำรวจภูธรเขต 9” เป็น “โรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 9”
พุทธศักราช 2503 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยใหม่ โดยตั้งกองบัญชาการศึกษาขึ้น และโอนการปกครองบังคับบัญชาโรงเรียนพลตำรวจภูธรทุกแห่ง รวมทั้งโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 9 ให้ไปขึ้นอยู่ในสังกัดกองบัญชาการศึกษาและตั้งชื่อโรงเรียนใหม่นี้ว่า “โรงเรียนตำรวจภูธร 4”
พุทธศักราช 2508 ทางกองทัพบกต้องการสถานที่ของโรงเรียนตำรวจภูธร 4 เพื่อตั้งเป็นค่ายทหารตามเดิม กองบัญชาการศึกษาจึงได้พิจารณาหาสถานที่แห่งใหม่ ในที่สุดก็หาสถานที่เหมาะสมได้ที่ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นที่ดินราชพัสดุ จำนวน 250 ไร่ โดยความอนุเคราะห์ให้การสนับสนุนของ พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กรมตำรวจโดยอนุมัติของ ฯพณฯ พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจ ได้จัดสร้างโรงเรียนตำรวจภูธร 4 ขึ้น
พุทธศักราช 2509 วันที่ 31 สิงหาคม 2509 โรงเรียนแห่งใหม่สร้างเสร็จจึงได้ย้ายจากค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งเดิม เข้ามาที่ตั้งใหม่ ณ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
พุทธศักราช 2516 ได้เปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียนตำรวจภูธร 4” เป็น “โรงเรียนตำรวจภูธร 9” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2516
พุทธศักราช 2548 สำนักงานตำรวจแห่งชาติโอนการปกครองบังคับบัญชาโรงเรียนตำรวจภูธร 9 ให้ไปขึ้นอยู่ในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 และตั้งชื่อโรงเรียนใหม่นี้ว่า “ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9”
พุทธศักราช 2552 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 ) พุทธศักราช 2551 จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นส่วนราชการในระดับกองบัญชาการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 และได้มีการออกกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการเรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2551 จัดตั้งส่วนราชการในสังกัด จึงได้มีการยกระดับฐานะ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 เป็นระดับกองบังคับการ โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้”
พุทธศักราช 2560 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2560 และมีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็น กองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 8 ) พุทธศักราช 2560 ขึ้นมาใหม่ โดยแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2552 และแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการเป็นอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2552 ให้ยุบรวม ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ากับตำรวจภูธรภาค 9 ดังนั้น ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9” จนถึงปัจจุบัน
โครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 เป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการ มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดในตำแหน่ง ผู้บังคับการ โดยมีหน่วยงานภายใน ได้แก่
- ฝ่ายอำนวยการ
- ฝ่ายบริการการศึกษา
- ฝ่ายปกครองและการฝึก
- กลุ่มงานอาจารย์
ภารกิจหลักของ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 ประกอบด้วย
- สร้างตำรวจให้มีความรู้ ความสามารถด้านงานตำรวจ มีทักษะทางยุทธวิธี และมีจิตสาธารณะ
- ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาองค์ความรู้ของครู - อาจารย์ และบูรณาการระหว่าง การบริการทางวิชาการ การวิจัย และการจัดการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์ ต่อชุมชนและสังคม
- พัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
- ทำนุบำรุง ส่งเสริม รักษาศิลปวัฒนธรรม และสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ด้านอาคารสถานที่ ประกอบด้วย
- อาคารกองบังคับการศูนย์ฝึกอบรม
- อาคารที่ทำการฝ่ายบริการการศึกษา
- กองร้อยที่ 1 ถึง กองร้อยที่ 7
- อาคารพลาธิการ
- อาคารฝึกยุทธวิธี
- ห้องพยาบาล
- สนามยิงปืน
- ลานฝึก
- หอประชุมพิทักษ์สันติราษฎร์
- หอประชุมบางลาง
- ห้องสมุด
- ครัวยาลอ
ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ รวมทั้งมุ่งเน้นการผลิตข้าราชการตำรวจให้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญการฝึกทางยุทธวิธี และพัฒนาข้าราชการตำรวจให้มีคุณภาพ มีคุณธรรม เป็นที่รักและศรัทธาของประชาชน